5 คำถาม เรื่องหลุมสิว

ถาม : เกิดจากอะไร คนที่สิวหายทำไมบางคนเป็นบางคนไม่เป็น?

ตอบ : ความยากง่ายของการเกิดหลุมสิวในแต่ละคนถูกกำหนดมาในพันธุกรรมของแต่ละบุคคล แต่สาเหตุจริงที่ทำให้เกิดหลุมสิวคือ การเกิดสิวอักเสบซ้ำๆ ในบริเวณเดิม จนผิวหนังบริเวณนั้นบาดเจ็บและมีพังผืด (Fibrosis) ดึงรั้งผิวหนังให้ยุบลงเป็นหลุมในที่สุด

ถาม : มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง การรักษารอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวแบบที่เป็นรอยบุ๋มลงไป

ตอบ : 2.1. กรณีที่มีรอยบุ๋มเล็กๆ สามารถใช้กรด(TCA)แต้มหลุมได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมแล้วเพราะให้ผลไม่แน่นอนและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูง 2.2. การรักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ (Fractional Photothermolysis Laser/RF) เพื่อให้แผลดูตื้นขึ้น ในการรักษาด้วยเลเซอร์แต่ละครั้ง จะกระตุ้นให้ผิวหน้าสร้างเนื้อเยื่อขึ้นเสริม โดยอาจต้องทำการรักษาด้วยเลเซอร์หลายครั้งติดต่อกัน เพื่อให้การรักษาได้ผลดี 2.3. การฉีดฟิลเลอร์ หรือ Hyaluronic acid ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศไทย โดยจะเสริมเนื้อขึ้นมาบริเวณรอยบุ๋มของแผลเป็น ซึ่งไม่ต้องทำการทดสอบเหมือนการใช้คอลลาเจน อาจต้องทำร่วมกับการสลายพังผืดใต้แผลเป็น (Subcision) กรณีที่หลุมแผลเป็นใหญ่และลึก 2.4. กรณีที่เป็นแผลลึกและใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเอาแผลเป็นนั้นออกไป แล้วเย็บแผลให้เรียบร้อย เหมือนการผ่าไฝ หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือน ถ้ายังมีรอยเย็บอยู่ก็สามารถใช้วิธี่อื่นลบรอยให้ดีขึ้นได้

ถาม : การรักษาด้วยเลเซอร์ต้องทำกี่ครั้ง? รักษาหายขาด?

ตอบ : สามารถหายขาดได้หากรักษาจนหลุมตื้นหรือหายไปแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีกยกเว้นเกิดสิวอักเสบขึ้นใหม่อีกในบริเวณนั้น ส่วนผลของการรักษาด้วยเลเซอร์นั้นขึ้นกับหลายปัจจัย 3.1. อายุของผู้ป่วย ในรายที่อายุน้อยผลการรักษาย่อมดีกว่าและจำนวนครั้งก็น้อยกว่า เพราะการซ่อมแซมเสริมสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังยังทำได้ดี 3.2. อายุของหลุมสิว แผลที่เกิดมาน้อยกว่า 6 เดือนย่อมรักษาหายเร็วกว่า ใช้จำนวนครั้งในการรักษาน้อยกว่าแผลเป็นที่เป็นมาหลายปี เพราะยิ่งปล่อยให้เป็นหลุมนานการเกิดพังผืดยึดก้นหลุมยิ่งมาก แผลเป็นแข็งตัวทำให้รักษายากขึ้น

ถาม : จะเริ่มรักษาหลุมสิวได้เมื่อไหร่?

ตอบ : เริ่มทันทีที่สามารถควบคุมสิวได้ ไม่มีสิวอักเสบหรือสิวอุดตันมากเกินไปในบริเวณที่ต้องการรักษา

ถาม : จะป้องกันการเกิดหลุมสิว ได้อย่างไร?

ตอบ : วิธีป้องกันหลุมสิวที่ดีที่สุดคือ การเริ่มการรักษากับแพทย์เฉพาะทางผิวหนังตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แพทย์เฉพาะทางผิวหนังจะวางแผนการรักษาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย รวมถึงการรักษาที่เหมาะสมกับสิวที่ผู้ป่วยเป็น เพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำๆ ที่จะนำไปสู่การเกิดหลุมสิวในอนาคต